การใช้ในเรือทางพลเรือน
(Civil Vessels)
ยานขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ มีความสำคัญต่อรัสเซียทั้งทางเทคนิคและการประหยัดงบประมาณ
โดยเฉพาะกับรัสเซียทางตอนเหนือ (Russian Arctic) ที่ต้องใช้เรือทำลายน้ำแข็ง
(icebreakers) การที่น้ำแข็งมีความหนา 3 เมตร และการเติมเชื้อเพลิงทำได้ยากถ้าใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่น
กองเรือนิวเคลียร์ (nuclear fleet) ได้ทำให้การเดินเรือด้านอาร์กติก
(Arctic) เพิ่มขึ้นจากปีละ 2 เดือนเป็นปีละ 10 เดือน และทำให้ด้านอาร์กติกตะวันตก
(Western Arctic) สามารถเดินเรือได้ทั้งปี
เรือทำลายน้ำแข็ง Lenin เป็นเรือผิวน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกของโลก
มีขนาด 20,000 dwt มีการใช้งานอยู่ 30 ปี โดยมีการเปลี่ยนเครื่องปฏิกรณ์ในปี
1970 ต่อมาได้มีการพัฒนาให้เรือทำลายน้ำแข็งมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยผลิตรุ่น
Arktika-class ที่มีขนาด 23,500 dwt ออกมาในปี 1975 จำนวน 6
ลำ แต่ละลำมีเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 56 MW ในการขับเคลื่อนจำนวน
2 เครื่อง เพื่อปฏิบัติการในน้ำลึกของทวีปอาร์กติก เรือ Arktika
เป็นเรือผิวน้ำลำแรกที่สามารถไปถึงขั้วโลกเหนือในปี 1977
การใช้งานสำหรับกรณีน้ำตื้น เช่น ปากน้ำหรือในแม่น้ำ มีการสร้างเรือต้นแบบขึ้นมา
2 ลำ ในฟินแลนด์ เป็นเรือทำลายน้ำแข็งรุ่น Taymyr-class ขนาด
18,260 dwt ใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาด 38 MW โดยใช้ระบบผลิตไอน้ำที่ทำในรัสเซีย
โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อแสดงให้เห็นว่าเรือพลังงานนิวเคลียร์
ที่สร้างขึ้นเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยสากล (international
safety standards) เรือรุ่นนี้เริ่มออกปฏิบัติการในปี 1989
การพัฒนาเรือพลังงานนิวเคลียร์พาณิชย์ เริ่มขึ้นในทศวรรษ 1950
แต่ไม่ประสบผลสำเร็จในทางการค้า สหรัฐได้สร้างเรือ NS Savannah
ขนาด 22,000 ตัน ใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาด 74 MWt ให้กำลังในการขับใบพัด
16.4 MW ได้รับอนุญาตในปี 1962 และเลิกใช้ใน 8 ปีต่อมา เรือที่สร้างขึ้นประสบความสำเร็จในทางเทคนิค
แต่ไม่คุ้มค่าในทางการค้า เยอรมันสร้างเรือพลังงานนิวเคลียร์ชื่อ
Otto Hahn ขนาด 15,000 ตัน ใช้เครื่องปฏิกรณ์ 1 เครื่องขนาด
36 MWt ให้กำลังในการขับใบพัดเรือ 8 MW เป็นเรือบรรทุกสินค้าและการวิจัย
ในการใช้งาน 10 ปี มีการเดินเรือ 126 เที่ยว ด้วยระยะทาง 650,000
ไมล์ทะเล โดยไม่มีปัญหาทางเทคนิค แต่ก็แสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการเดินเรือสูงเกินไป
และได้เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซลในปี 1982
เรือ Mutsu ขนาด 8000 ตันของญี่ปุ่น เป็นเรือพลังงานนิวเคลียร์ทางพลเรือนลำที่
3 เริ่มใช้งานในปี 1970 ใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 เครื่อง
ขนาด 36 MWt ใช้เชื้อเพลิงแบบ low-enriched uranium (3.7 - 4.4%
U-235) ให้กำลังในการขับใบพัดเรือ 8 MW เรือลำนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ
เนื่องจากมีปัญหาทั้งทางเทคนิคและปัญหาทางการเมือง
ในปี 1988 รัสเซียได้ออกเรือ NS Sevmorput สำหรับใช้ที่ท่าเรือตอนเหนือของไซบีเรีย
(Siberian ports) เรือลำนี้มีขนาด 61,900 ตัน เป็นเรือบรรทุกขนาดเบาสำหรับใช้กับท่าเรือน้ำตื้น
ที่ติดตั้งชุดทำลายน้ำแข็ง โดยใช้เครื่องปฏิกรณ์ขนาด 135 MWt
แบบ KLT-40 เช่นเดียวกับที่ใช้ในเรือทำลายน้ำแข็งขนาดใหญ่ ให้กำลังในการขับใบพัดเรือ
30 MW มีการเติมเชื้อเพลิงใหม่ครั้งเดียวเมื่อปี 2003
นับถึงปี 2003 รัสเซียมีชั่วโมงการปฏิบัติงานกับเครื่องปฏิกรณ์
ของเรือพลังงานนิวเคลียร์ในทวีปอาร์กติก 250 ปี และมีโครงการที่จะสร้างเรือทำลายน้ำแข็งพลังงานนิวเคลียร์ขนาด
32,400 dwt ซึ่งให้กำลังในการขับใบพัดเรือ 60 MW และมีแผนที่จะสร้างเรือที่มีกำลังสูงขึ้น
ให้มีขนาด 110 MW net และ 55,600 dwt |