Cold fusion
ในปี 1989 มีเรื่องที่ชวนให้น่าตื่นเต้น เมื่อนักวิจัย 2 คนในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ได้ประกาศว่า สามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาฟิวชันที่อุณหภูมิห้อง ได้ด้วยอุปกรณ์ตั้งโต๊ะแบบง่ายๆ แต่นักทดลองคนอื่นกลับล้มเหลว เมื่อลองทำ "cold fusion" ซ้ำในแบบเดียวกัน ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ ไม่คิดว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องจริง ถึงกระนั้น ยังคงมีคนทำงานวิจัยเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง cold fusion เป็นการทดลองโดยให้กระแสไฟฟ้า (electrolysis) กับน้ำมวลหนัก (heavy water) โดยใช้โลหะพาลาเดียม (palladium) เป็นขั้วไฟฟ้า เพื่อทำให้ดิวทีเรียมมีความหนาแน่นสูง จนนิวเคลียสเข้าใกล้กันพอที่จะเกิดปฏิกิริยาฟิวชัน
ประวัติของฟิวชัน
ทุกวันนี้ มีหลายประเทศที่ทำงานวิจัยเรื่องฟิวชัน โดยแบ่งหน้าที่กันในแต่ละส่วน กลุ่มผู้นำได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น ขณะที่อีกหลายประเทศก็มีความแข็งขันในการดำเนินโครงการ เช่น จีน บราซิล แคนาดา และเกาหลี เมื่อก่อนนี้ งานวิจัยฟิวชันของสหรัฐและสหภาพโซเวียต มีความเกี่ยวโยงกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และยังคงจัดอยู่ในโครงการประเภทเดียวกัน จนกระทั่งปี 1958 ซึ่งมีการประชุมปรมาณูเพื่อสันติ (Atoms for Peace) ที่กรุงเจนีวา ต่อมาเมื่อโซเวียตพัฒนาเครื่อง tokamak งานวิจัยฟิวชันจึงกลายเป็นโครงการใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ ของทศวรรษ 1970 แต่ด้วยงบประมาณการลงทุนที่สูงมาก บวกกับความซับซ้อนของอุปกรณ์ จึงจำเป็นต้องมีโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนายังคงดำเนินต่อไป
ในปี 1978 ประชาคมยุโรป (European Community) กับสวีเดนและสวิสเซอร์แลนด์ ได้ดำเนินโครงการ JET ที่ประเทศอังกฤษ เครื่อง JET สามารถผลิตพลาสมาได้เป็นครั้งแรก ในปี 1983 และประสบผลสำเร็จในการทดลองใช้เชื้อเพลิงผสมดิวทีเรียม-ตริเตียม (D-T fuel) เมื่อปี 1991 ส่วนในสหรัฐอเมริกา เครื่อง PLT tokamak ซึ่งตั้งอยู่ที่ Princeton ได้ผลิตพลาสมาที่อุณหภูมิสูงกว่า 60 ล้านองศา เมื่อปี 1978 และได้เริ่มการทดลองโดยใช้เชื้อเพลิงดิวทีเรียม-ตริเตียม ในที่แห่งเดียวกันนี้ ด้วยเครื่อง Tokamak Fusion Test Reactor (TFTR) เมื่อปี 1993 สำหรับญี่ปุ่น เริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 1988 ด้วยเครื่อง JT-60 Tokamak
JET
JET เป็นเครื่อง tokamak ขนาดใหญ่ที่ในโลกที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน โดยมีกำลังของฟิวชันจากพลาสมาของดิวทีเรียม-ตริเตียม 16 MW ใน 1 วินาที มีการใช้ในการทดลองเพื่อศึกษาการให้ความร้อนในหลายรูปแบบ รวมทั้งการทดลองทางเทคนิคอื่นๆ เครื่อง JET ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการทดสอบ ด้วยเทคนิคการควบคุมระยะไกล ในสภาพแวดล้อมที่มีกัมมันตรังสี เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ภายใน และแสดงให้เห็นว่าการควบคุมระยะไกลในอุปกรณ์ฟิวชันนั้น สามารถทำได้จริง
ในปี 2001 กระทรวงพลังงานสหรัฐ (DOE) และสหภาพยุโรป (EU) ให้ความเห็นชอบที่จะร่วมกันวิจัยพลังงานฟิวชัน ซึ่งเป็นการขยายความร่วมมือเรื่องฟิวชัน จากที่ได้ลงนามไว้เมื่อปี 1986 ระหว่างยุโรปกับ DOE โดยความร่วมมือนี้ ครอบคลุมถึงเรื่อง tokamaks, alternatives to tokamaks, magnetic fusion energy technology, plasma theory และ applied plasma physics
ITER
เมื่อปี 1985 สหภาพโซเวียตได้เสนอให้สร้าง tokamak รุ่นใหม่ในยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โครงการความร่วมมือนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency, IAEA) ระหว่างปี 1988 และ 1990 ได้เริ่มมีความคืบหน้าในการออกแบบขั้นต้นของ เครื่อง International Thermonuclear Experimental Reactor (ITER) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ปฏิกิริยาฟิวชัน สามารถผลิตพลังงานออกมาได้ ในปี 1992 ทั้ง 4 ฝ่าย เห็นชอบที่จะเพิ่มความร่วมมือ ในกิจกรรมด้านวิศวกรรมการออกแบบของเครื่อง ITER (คำว่า ITER เป็นทั้งตัวย่อ และมีความหมายว่าเส้นทาง หรือการเดินทางในภาษาละติน) ต่อมาแคนาดาได้เข้าร่วมโครงการกับ Euratom ขณะที่ Kazakhstan เข้าร่วมกับรัสเซีย
6 ปีต่อมา สภา ITER ได้อนุมัติการออกแบบ (comprehensive design) ของเครื่องปฏิกรณ์เป็นครั้งแรก ด้วยพื้นฐานจากการศึกษาทางฟิสิกส์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ โดยใช้งบประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อมาเมื่อสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากโครงการ ทำให้เงินสนับสนุนลดลงไป 50% และต้องมีการออกแบบใหม่ ผลที่ได้คือ โครงการ ITER - Fusion Energy Advanced Tokomak (ITER- FEAT) คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3 พันล้านเหรียญ แต่ยังคงตั้งเป้าหมายที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อเนื่องได้เอง (self-sustaining) และให้พลังงานออกมาเป็นบวก (net energy gain) พลังงานที่ให้ออกมา อาจจะยังไม่พอที่จะใช้สำหรับโรงไฟฟ้า แต่จะทำให้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการใช้พลังงานฟิวชัน
ในปี 2003 สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาร่วมโครงการ รวมถึงประเทศจีนด้วย หลังจากที่เจราจากันเป็นเวลานาน ตอนกลางปี 2005 ที่ประชุม 6 ฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกัน ในการเลือกที่ตั้ง ITER ที่ Cadarache ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส โดยตกลงตามข้อเสนอของญี่ปุ่น ที่เดิมต้องการให้สร้างที่ Rokkasho โดย EU และฝรั่งเศสจะสนับสนุนงบประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 12.8 พันล้านยูโร ขณะที่ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ สหรัฐและรัสเซีย จ่ายให้ประเทศละ 10% ญี่ปุ่นจะรับผิดชอบด้านอุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง (high-tech) และการลงทุนด้านอุปกรณ์ทดสอบวัสดุ อีก 1 พันล้านยูโร และตกลงที่จะให้สร้างเครื่องปฏิกรณ์ฟิวชันเครื่องต่อไปที่ญี่ปุ่น เงินลงทุนของเครื่อง ITER ขนาด 500 MWt นี้ ครึ่งหนึ่งเป็นการลงทุนด้านการก่อสร้างในช่วง 10 ปีแรก ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง เป็นการลงทุนในช่วงเดินเครื่อง ใน 20 ปีถัดไป
ในเดือนพฤศจิกายน 2006 จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้ลงนามในความร่วมมือ ITER โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้กล่าวยกย่องความพยายามที่จะควบคุมไฟของดวงอาทิตย์เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาด |